3.4 ประเภทของระบบปฏิบัติการ
                    เนื่องจากระบบปฏิบัติการเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานได้    แต่ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน      มีสถาปัตยกรรมที่แตกต่างกัน เช่น เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ที่เราใช้งานทั่วไป จะมีคุณสมบัติและการทำงานที่แตกต่างจากคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ เช่น มินิคอมพิวเตอร์ ที่ทำหน้าที่เป็นเครื่องให้บริการที่ต้องคอยให้บริการและดูแลเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เป็นบริวารจำนวนมาก ระบบปฏิบัติการที่ใช้งานกับคอมพิวเตอร์ประเภทนี้จึงต้องมีความซับซ้อนกว่าระบบปฏิบัติการที่ใช้ในเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ และเราสามารถแบ่งประเภทของระบบปฏิบัติการตามลักษณะการทำงานได้เป็น 3 ประเภท ดังนี้

                    1)ประเภทใช้งานเดียว (Single-tasking)
ระบบปฏิบัติการประเภทนี้จะกำหนดให้คอมพิวเตอร์ใช้งานได้ครั้งละหนึ่งงานเท่านั้น ใช้ในเครื่องขนาดเล็กอย่างไมโครคอมพิวเตอร์ เช่น ระบบปฏิบัติการดอส

                    2)ประเภทใช้หลายงาน (Multitasking)
ระบบปฏิบัติการสามารถควบคุมการทำงานพร้อมกันหลายงานในขณะเดียวกัน    ผู้ใช้สามารถทำงานกับซอฟต์แวร์ประยุกต์ได้หลายชนิดในเวลาเดียวกัน โดยระบบปฏิบัติการจัดสรรทั้งเวลาและเนื้อที่ที่ต้องใช้ในการประมวลผลคำสั่งของซอฟต์แวร์แต่ละชนิด เช่น แบ่งปันเวลาในการประมวลผลของซีพียู และแบ่งเนื้อที่ในหน่วยความจำสำหรับเก็บข้อมูลและคำสั่งของซอฟต์แวร์ที่ใช้งาน เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ 95 และ 98

                    3)ประเภทใช้งานหลายคน (Multi-user)
ในหน่วยงานบางแห่งอาจใช้คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ทำหน้าที่ประมวลผล ทำให้ในขณะใดขณะหนึ่งมีผู้ใช้คอมพิวเตอร์พร้อมกันหลายคน แต่ละคนจะมีสถานีงานของตนเองเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ จึงต้องใช้ระบบปฏิบัติการที่มีความสามารถในการจัดการสูง เพื่อให้ผู้ใช้ทุกคนสามารถทำงานเสร็จในเวลา ระบบปฏิบัติการในกลุ่มนี้ เช่น ระบบปฏิบัติการวินโดวส์เอ็นที

3.5  ตัวอย่างระบบปฏิบัติการ

                   เนื่องจากระบบปฏิบัติการต้องมีความสัมพันธ์ระหว่างโปรแกรมใช้งาน ระบบปฏิบัติการจึงมีหลายชนิด ปัจจุบันที่นิยมใช้งานกันแพร่หลายมีดังนี้

                    1)ระบบปฏิบัติการดอส (Disk Operating System : DOS)
บริษัทไอบีเอ็มผลิตเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ขึ้นมาและให้ชื่อว่า “คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล” (Personal Computer : PC) ได้มอบหมายให้บริษัทไมโครซอฟต์เป็นผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการ โดยให้ชื่อว่า “พีซีดอส” (Personal Computer Disk Operating System : PC-DOS) ต่อมาเมื่อไมโครคอมพิวเตอร์แบบนี้เป็นที่แพร่หลาย จึงมีผู้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ซึ่งมีการทำงานแบบเดียวกับไมโครคอมพิวเตอร์ของบริษัทไอบีเอ็ม ไมโครคอมพิวเตอร์เหล่านี้จะใช้ระบบปฏิบัติการของบริษัทไมโครซอฟต์เช่นกัน แต่ใช้ชื่อว่า “เอ็มเอสดอส” (MicroSoft Disk Operating System : MS-DOS) ซึ่งมีการทำงานคล้ายพีซีดอส แต่ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมแล้ว

                    2)ระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ (UNIX)
เป็นระบบปฏิบัติการประเภทใช้หลายคนและหลายงาน ได้มีผู้พัฒนาระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ให้สามารถใช้กับเครื่องชนิดต่าง ๆ หลายระบบ โดยตั้งชื่อใหม่เป็น ซีนิกซ์ (Xenix) วีนิกซ์ (Venix) ไมโครนิกซ์ (Micronix) เอไอเอ็กซ์ (AIX) อัลทริกซ์ (Altrix) เป็นต้น ปัจจุบันพยายามจะกำหนดให้ระบบปฏิบัติการที่มีชื่อต่าง ๆ เหล่านี้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โปรแกรมที่พัฒนาภายใต้ระบบยูนิกซ์นี้ มีข้อดีตรงที่ไม่ต้องขึ้นกับเครื่องคอมพิวเตอร์แบบใดแบบหนึ่งโดยเฉพาะ

                    3)ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟต์วินโดวส์ (Microsoft Windows)
ระบบปฏิบัติการนี้พัฒนาโดยบริษัทไมโครซอฟต์ เป็นระบบปฏิบัติการที่มีลักษณะการใช้งานแตกต่างจาก 2 ระบบแรกที่กล่าวมา เนื่องจากมีส่วนติดต่อกับผู้ใช้ (User Interface) เป็นแบบที่เรียกว่า “ระบบติดต่อผู้ใช้แบบกราฟิก” (Graphical User Interface : GUI) หรือที่เรียกว่า “จียูไอ” คือมีการแสดงผลเป็นรูปภาพและใช้สัญลักษณ์ในรูปรายการเลือก (Menu) หรือสัญรูป (Icon) ในการสั่งงานคอมพิวเตอร์แทนการพิมพ์คำสั่งทีละบรรทัด ทำให้การใช้งานคอมพิวเตอร์ง่ายขึ้น ทั้งยังมีสีสัน ทำให้ซอฟต์แวร์น่าใช้งานมากขึ้น


รูปที่ 5.2 ระบบปฏิบัติการวินโดวส์ที่มีระบบติดต่อผู้ใช้แบบจียูไอ สั่งงานด้วยสัญลักษณ์แทนการป้อนคำสั่ง


                        ระบบปฏิบัติการวินโดวส์นี้  เป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมสูงมากในเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ทั่วไป ทั้งนี้นอกจากจะเป็นเพราะความง่ายในการใช้งานที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังเป็นเพราะหลังจากที่บริษัทไมโครซอฟต์ได้ผลิตระบบปฏิบัติการนี้ออกสู่ตลาด ก็ได้พัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ สามารถใช้งานบนระบบปฏิบัติการนี้ขึ้นหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นซอฟต์แวร์ในกลุ่มซอฟต์แวร์ประมวลคำ ซอฟต์แวร์ตารางทำงาน หรือซอฟต์แวร์นำเสนอข้อมูล ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกในการทำงานของผู้ใช้ในทุก ๆ ด้าน ทำให้เกิดการใช้งานที่แพร่หลาย นอกจากนี้ยังได้มีการพัฒนาระบบปฏิบัติการรุ่นใหม่ ๆ ที่สนับสนุนการใช้งานกับเทคโนโลยีใหม่ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วินโดวส์ 3.0 (Windows 3.0) ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่ทำงานบนเครื่องเดียว พัฒนาเป็นรุ่นหรือเวอร์ชัน (Version) ที่สามารถทำงานเป็นกลุ่มหรือเครือข่ายภายในองค์กรที่ใช้ทรัพยากรร่วมกันได้ และพัฒนาต่อมาเป็นวินโดวส์ 95 (Windows 95) วินโดวส์ 98 (Windows 98) วินโดวส์ เอ็มอี (Windows ME) และพัฒนาเป็นระบบปฏิบัติการเครือข่ายที่สามารถจัดการด้านการติดต่อสื่อสารระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์บนเครือข่าย จัดการด้านการใช้งานอุปกรณ์ร่วมกัน ดูแลจัดสรร และรักษาความปลอดภัยของข้อมูล เช่นวินโดวส์ เอ็นที (Windows NT) วินโดวส์ 2000 (Windows 2000) และวินโดวส์ เอ็กซ์พี (Windows XP) หรือแม้แต่ระบบปฏิบัติการสำหรับคอมพิวเตอร์พกพาอย่างวินโดวส์ ซีอี (Windows CE)

                         4)ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ (Linux)
                        เป็นระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ระบบหนึ่งเช่นเดียวกับซีนิกซ์หรือวีนิกซ์ ได้รับการพัฒนาโดยนักศึกษาภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ในมหาวิทยาลัยเฮลซินกิ ประเทศฟินแลนด์ ชื่อ “ลีนุซ  ทอร์วาลด์ (Linus Torvalds) เขาเริ่มพัฒนาระบบปฏิบัติการดังกล่าวในปี พ.ศ. 2523 เนื่องจากเขาต้องการพัฒนาระบบปฏิบัติการยูนิกซ์ที่มีความสามารถมากกว่าระบบปฏิบัติการไมนิกซ์ซึ่งเขาใช้งานอยู่ จึงเริ่มต้นพัฒนาระบบปฏิบัติการนี้เอง โดยไม่ได้ลอกเลียนแบบจากระบบปฏิบัติการยูนิกซ์อื่นเลย และในปี พ.ศ. 2534 ระบบปฏิบัติการลีนุกซ์ เวอร์ชัน 0.010 ก็ได้รับการเผยแพร่ โดยมีการแจกให้ใช้งานฟรี รวมทั้งรหัสต้นแบบ (Source Code) ก็เป็นที่เปิดเผย จึงเป็นที่นิยม และมีผู้นำไปพัฒนาลีนุกซ์ของตนเองขึ้นใช้งานมากมาย รวมทั้งมีผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ประยุกต์ขึ้นใช้งานบนระบบปฏิบัติการลีนุกซ์อีกด้วย


รูปที่ 5.3 หน้าจอซอฟต์แวร์ระบบลีนุกซ์ในสภาวะตัวอักษร

                        ด้วยเหตุที่มีผู้นำรหัสต้นแบบของระบบปฏิบัติการนี้   มาพัฒนาเป็นของตนเองมากมาย   รวมทั้งปัจจุบันแนวคิดของจียูไอกำลังเป็นที่นิยม จึงมีการพัฒนาระบบปฏิบัติการลีนุกซ์  ให้สามารถทำงานบนระบบเอ็กซ์วินโดวส์ (X Windows) ซึ่งเป็นระบบที่มีการติดต่อกับผู้ใช้แบบกราฟิก และถือได้ว่าลีนุกซ์เป็นยูนิกซ์ที่สมบูรณ์แบบ อีกทั้งเป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถทำงานได้บนเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ประสิทธิภาพไม่สูงมาก เช่น เครื่องตระกูล 80386 ได้ และต้องการหน่วยความจำเพียง 2 เมกะไบต์ในการทำงานบนสภาวะตัวอักษร (Text Mode) หรือ 64 เมกะไบต์ในการทำงานบนระบบเอ็กซ์วินโดวส์



<< ก่อนหน้า -- ถัดไป >>