10.1พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 และ
จริยธรรม (Ethics) ของการใช้งานคอมพิวเตอร์และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ

 

1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

          โครงการศูนย์ประสานงานการรักษาความปลอดภัยคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ThaiCERT)ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สรุปสภาพปัญหาของการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต  ดังนี้
1)ผู้กระทําความผิดอยู่ตรงไหนก็ได้ในโลก
2)ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนในการกระทำความผิด
3)ยากต่อการตรวจพบร่องรอยการกระทําผิด
4)ยากต่อการจับกุมและนําผู้กระทําผิดมาลงโทษ
5)ความเสียหายกระทบถึงคนจํานวนมากและรวดเร็ว

          โดยปกติการกระทำความผิดต่างๆ จะมีพระราชบัญญัติ กฎหมายกำหนดบทลงโทษในการกระทำประเภทต่างๆ ไว้อย่างชัดเจน ด้านการกระทำความผิดทาง ICT มีการร่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550เพื่อกำหนดฐานความผิดและบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ในรูปแบบใหม่ ซึ่งกฎหมายปัจจุบันอาจยังไม่สามารถรองรับหรือครอบคลุม เช่น การกระทำให้ระบบคอมพิวเตอร์ไม่สามารถทำตามคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือทำให้การทำงานผิดพลาดจากคำสั่งที่กำหนดไว้ หรือใช้วิธีการใดๆ เข้าล่วงรู้ข้อมูล แก้ไข หรือทำลายข้อมูลของบุคคลอื่นในระบบคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ     หรือใช้ระบบคอมพิวเตอร์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือมีลักษณะอันลามกอนาจาร และเพื่อกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของพนักงาน เจ้าหน้าที่ซึ่งต้องมีความรู้ความชำนาญพิเศษทางด้านคอมพิวเตอร์เพื่อให้ปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย ดังนั้น วัตถุประสงค์ของ พรบ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 สรุปดังนี้
1)เพื่อกําหนดฐานความผิดและบทลงโทษ
2)เพื่อกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่
3)เพื่อกำหนดหน้าที่ของผู้ให้บริการ