6.8บทสรุป
          ฐานข้อมูลเป็นแหล่งเก็บข้อมูลจำนวนมาก ๆ เมื่อนำข้อมูลที่เก็บอยู่ภายในฐานข้อมูล นำมาประมวลผลโดยการนับ รวบรวม จัดกลุ่ม จำแนก หาค่าเฉลี่ยหรือคิดเป็นร้อยละ แล้วแสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นกราฟจะได้เป็นสารสนเทศ และนำสารสนเทศที่ได้ไปใช้ในการตัดสินใจของผู้บริหารองค์กรจะทำให้ผู้บริหารองค์กรตัดสินใจได้ถูกต้องการบริการลูกค้ามีความสะดวกรวดเร็วลูกค้ามีความพึงพอใจองค์กรมีการพัฒนาก้าวหน้าต่อไปได้
ระบบฐานข้อมูลที่จัดเก็บในเครื่องคอมพิวเตอร์จะต้องใช้ซอฟต์แวร์ในการจัดการเรียกว่า ระบบจัดการฐานข้อมูลซึ่งเมื่อเอาระบบจัดการฐานข้อมูลมาใช้จะทำให้มีประสิทธิภาพการสอบถามข้อมูลได้คำตอบที่ถูกต้องตรงกับความต้องการการเข้าถึงข้อมูลเป็นไปตามสิทธิ์ของผู้ใช้แต่ละคนทำให้ข้อมูลปลอดภัยมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ข้อมูลที่จัดเก็บจะลดความซ้ำซ้อนลงได้และข้อมูลจะไม่ขัดแย้งกันมีความเป็นบูรณภาพ
การเก็บข้อมูลในหน่วยความจำของคอมพิวเตอร์นั้นมีการเก็บเป็นอักขระตามรหัสของแต่ละอักขระอักขระตัวหนึ่งจะต้องใช้ 8 บิตในมาตรฐานรหัสแอสกี (ASCII) แต่ถ้าเป็นมาตรฐานรหัสยูนิโค้ด (Unicode) จะใช้ 16 บิตซึ่งตัวอักขระหนึ่งตัวเรียกว่า 1 ไบต์โดยปกติแล้วการเก็บข้อมูลจะเก็บเป็นกลุ่มคำที่เก็บในลักษณะของตาราง ตารางประกอบด้วยแถวและสดมภ์ถ้ามองระดับสดมภ์ เรียกว่าข้อมูลระดับสดมภ์ว่าเขตข้อมูลในแต่ละแถวจะมีมากกว่าหนึ่งสดมภ์ถ้ามองในระดับแถวจะเรียกการเก็บข้อมูลแบบนี้ว่าระเบียนจะเห็นว่าในหนึ่งตารางจะมีหลาย ๆ แถวในระบบฐานข้อมูลเรียกตารางว่าแฟ้มข้อมูลแต่มุมมองจินตภาพเรียกว่าเอนทิตีปกติจะมีตารางมากกว่าหนึ่งตารางเพราะฉะนั้นตารางหลาย ๆตารางหรือหลาย ๆ แฟ้มข้อมูลเรียกว่าฐานข้อมูล
          ปัญหาในการจัดการข้อมูลในอดีตมีหลายปัญหา เช่น ความยุ่งยากในการประมวลผลแฟ้มข้อมูล เนื่องจากต้องใช้คำสั่งของภาษาระดับสูงจัดการข้อมูลโดยตรงข้อมูลไม่มีความเป็นอิสระถ้ามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างข้อมูลต้องแก้ไขชุดคำสั่งด้วยแฟ้มข้อมูลมีความซ้ำซ้อนมากแฟ้มข้อมูลมีความถูกต้องของข้อมูลน้อยแฟ้มข้อมูลมีความปลอดภัยน้อยและแฟ้มข้อมูลขาดการควบคุมจากส่วนกลาง เป็นต้น
          ฐานข้อมูลแบ่งความสัมพันธ์ออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ ความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อหนึ่ง ความสัมพันธ์แบบหนึ่งต่อกลุ่ม และความสัมพันธ์แบบกลุ่มต่อกลุ่มนอกจากนี้ฐานข้อมูลได้มีการจำลองข้อมูลเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ๆ มีการจำลองออกเป็น 3 แบบด้วยกัน ได้แก่ การจำลองแบบลำดับชั้น การจำลองแบบเครือข่าย และการจำลองแบบเชิงสัมพันธ์
          ประเภทของฐานข้อมูล แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ แบ่งตามจำนวนผู้ใช้มีแบบใช้เพียงคนเดียวและผู้ใช้หลายคนกับแบ่งตามขอบเขตของงาน แบ่งตามสถานที่ตั้ง และแบ่งตามการใช้งาน เป็นต้นหน้าที่ของระบบจัดการฐานข้อมูลมี 7 อย่างด้วยกัน ได้แก่หน้าที่ในการจัดการพจนานุกรมข้อมูลจัดการแหล่งจัดเก็บข้อมูลการเปลี่ยนรูปแบบ และการแสดงผลข้อมูล จัดการด้านปลอดภัยของข้อมูลควบคุมการเข้าถึงข้อมูลของผู้ใช้แต่ละคน แต่ละกลุ่ม สำรองข้อมูลและการกู้คืนข้อมูลจัดการด้านบูรณภาพของข้อมูลมีภาษาสำหรับจัดการข้อมูลและจัดสร้างส่วนประสานกับผู้ใช้และเป็นส่วนประสานกับผู้ใช้ในด้านการสื่อสารฐานข้อมูล
ภาษาที่ใช้ในการจัดการฐานข้อมูลใช้ภาษาเอสคิวแอล (SQL) แบ่งออกเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ภาษาสำหรับการนิยามข้อมูล ภาษาสำหรับการจัดการข้อมูล และภาษาในการควบคุม และในระบบฐานข้อมูลจะต้องสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องด้วยมีทั้งหมด 5 อย่างด้วยกัน ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ บุคลากร กระบวนการ และข้อมูล ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้มีความสำคัญทั้งนั้น ขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไม่ได้เพราะจะทำให้ระบบฐานข้อมูลไม่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์